ความรู้เกี่ยวกับ Green Office

How to ทิ้ง? ทิ้งขยะอย่างไรให้ถูกประเภท

     การคัดแยกและกำจัดขยะ เป็นแนวทางที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสำนักงานเขต ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้มีขยะติดเชื้อจากครัวเรือนเป็นจำนวนมาก จึงดำเนินการกำหนดจุดตั้งวางหรือทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย เพื่อประสานบริษัทกรุงเทพธนาคม จัดเก็บนำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อ รวมทั้งให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์การทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 ต่อไป โดยขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะและเลือกทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภท เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยมีรายละเอียดของขยะแต่ละประเภทที่ควรทราบ ดังนี้

ประเภทของขยะ
1. ขยะย่อยสลายได้ หรือ ขยะอินทรีย์ คือ ขยะจำพวกเศษอาหาร เศษใบไม้ ผักผลไม้ที่เน่าเสีย สามารถนำไปทำปุ๋ยหรือผลิตเป็นพลังงานประเภทต่าง ๆ ได้
2. ขยะรีไซเคิล หรือ บางคนเรียกว่า ขยะแห้ง เป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง
3. ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ เช่น สารพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรคหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัตถุกรรมมันตรังสี วัตถุกัดกร่อน เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ควรนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้สารพิษรั่วซึมลงแหล่งน้ำ หรือชั้นผิวดิน
4. ขยะทั่วไป คือ ขยะประเภทอื่น นอกเหนือจากขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย เป็นขยะที่มีลักษณะย่อยสลายยาก ไม่คุ้มค่าต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงพลาสติก ซองขนม กล่องโฟม เป็นต้น
5. ขยะติดเชื้อ คือ ขยะที่มาจากสถานพยาบาลหรือผู้ที่มีความเจ็บป่วย เช่น อุปกรณ์ที่สัมผัสร่างกายผู้ป่วย ปัสสาวะ อุจจาระและของเหลวในร่างกายอื่น ๆ

การแยกขยะตามสีถัง
1. ถังขยะสีเขียว รองรับขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำขยะมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เป็นต้น
2. ถังขยะสีเหลือง รองรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขยะมูลฝอยที่ยังใช้งานได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ เป็นต้น
3. ถังขยะสีแดง รองรับขยะที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ เป็นต้น
4. ถังขยะสีน้ำเงิน รองรับขยะทั่วไปหรือมูลฝอยทั่วไป หรือขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะที่ใส่ในถังขยะสีอื่น ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก กล่องโฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร เป็นต้น
5. ถังขยะสีส้ม รองรับขยะติดเชื้อ สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถุงมือ หรือกระดาษชำระ เป็นต้น