ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมี
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science Program in Biochemistry
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็ม (ไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีวเคมี)
ชื่อย่อ (ไทย) : วท.บ. (ชีวเคมี)
ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Bachelor of Science (Biochemistry)
ชื่อย่อ (อังกฤษ) : B.Sc. (Biochemistry)
ภาพรวม
หลักสูตรชีวเคมีเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจหลักการทางชีวเคมี และมีทักษะในการปฎิบัติ เนื้อหาของการเรียนครอบคลุมทั้งโครงสร้างและหน้าที่ของสารชีวโมเลกุลในสิ่งมีชีวิต ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ลิพิด โปรตีน และสารพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงพลังงานภายในเซลล์ การสร้างและสลายสารชีวโมเลกุลภายในเซลล์โดยกระบวนการเมแทบอลิซึม และกลไกในระดับพันธุกรรม ทั้งที่เกิดในภาวะปกติและผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่พยาธิกำเนิดของโรคต่างๆ นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านชีววิทยาโมเลกุลเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อการวิจัย เทคโนโลยีอุตสาหกรรมด้านชีวภาพที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีด้านเอนไซม์ และการวิเคราะห์สารพฤกษเคมีเพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีฐานความรู้สู่การประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานวิจัยระดับพื้นฐานและระดับสูงเพื่อการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
การเรียนการสอน
นิสิตชั้นปีที่ 1 จะได้เรียนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเช่นเดียวกับหลักสูตรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แก่ กลุ่มวิชาพื้นฐานทางภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กลุ่มวิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารยุคดิจิทัล และกลุ่มวิชาทักษะชีวิต หมวดวิชาเฉพาะในกลุ่มพื้นฐานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะได้เรียนวิชาพื้นฐานของหลักสูตร ได้แก่ ชีวโมเลกุลและชีววิทยาของเซลล์ และหลักการของชีวเคมี
นิสิตชั้นปีที่ 2 จะยังคงได้เรียนวิชาศึกษาทั่วไป วิชาภาษาอังกฤษในระดับที่สูงขึ้น วิชาพื้นฐานเฉพาะด้านที่เน้นความรู้ทางเคมี และกลุ่มวิชาเอกบังคับ ได้แก่ วิชาเครื่องมือพื้นฐานทางชีวเคมี การศึกษาพันธุศาสตร์ผ่านมุมมองของนักชีวเคมี ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ความเชื่อมโยงของเมแทบอลิซึมต่างๆ ทั้งในสภาวะปกติและผิดปกติ รวมถึงกลไกทางชีวเคมีของโรคต่างๆ
นิสิตชั้นปีที่ 3 มีวิชาเอกบังคับ ได้แก่ วิชาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ วิชาชีวเคมีเทคโนโลยีซึ่งเป็นรายวิชาที่จะติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต วิชาชีวเคมีของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่นิสิตจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการสกัดและวิเคราะห์สารสกัดพฤกษเคมี การนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ทั้งในแง่ของสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากภาวะเครียดออกซิเดชัน หรือการนำมาใช้ในการรักษาโรค และนิสิตจะได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการทำปฏิบัติการที่ใช้ในการศึกษาเซลล์ โปรตีน และสารพันธุกรรม โดยใช้วิธีวิเคราะห์ที่มีความทันสมัย มีความถูกต้องแม่นยำสูงผ่านรายวิชาเทคนิคปฏิบัติการทางอณูชีววิทยา
นอกจากนั้น นิสิตจะยังได้เรียนวิชาการอ่านเชิงวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการทำความเข้าใจบทความวิชาการภาษาอังกฤษ วิชาระเบียบวิธีวิจัยที่ฝึกฝนทักษะการเป็นนักวิจัยให้กับนิสิต และวิชาที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ได้แก่ วิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล วิชาบูรณาการความรู้สู่นวัตกรรมทางวิชาชีพ และนิสิตยังสามารถเลือกเรียนวิชาเอกเลือกและวิชาเลือกเสรีตามความสนใจของตนเองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการพานิสิตออกไปทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ ทั้งสถาบันวิจัยและสถานประกอบการต่างๆ
นิสิตชั้นปีที่ 4 ในภาคการศึกษาต้น นิสิตจะเรียนวิชาที่นำความรู้ กระบวนการทางวิทยาศาสคร์ และทักษะทางชีวเคมีที่ได้เรียนมาตลอด 3 ปี มาต่อยอดและประยุกต์ผ่าน 2 รายวิชาได้แก่ วิชาการพัฒนาทักษะปฏิบัติการทางชีวเคมีสู่อาชีพ และวิชาสัมมนา นอกจากนี้นิสิตยังคงได้เลือกเรียนวิชาเอกและวิชาเลือกเสรีตามความสนใจของตนเอง ในภาคการศึกษาปลาย นิสิตจะได้ออกปฏิบัติสหกิจศึกษา ฝึกงาน ยังเครือข่ายสถาบันและสถานประกอบการต่างๆ หรือเลือกทำการศึกษาอิสระในหัวข้อที่ตนเองสนใจโดยมีอาจารย์ให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด
อาชีพที่สามารถปฏิบัติได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ และหน่วยงานเอกชน
2 ผู้ช่วยนักวิจัยของหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กรต่าง ๆ และโรงงาน
3 ผู้ปฏิบัติงานแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโรงงาน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ยา เวชภัณฑ์ อาหาร และเครื่องสำอาง
4 ผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สารเคมี ยา เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง
5 ผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้ทางชีวเคมี เช่น การให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เจ้าของ ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม