หลักสูตรจุลชีววิทยา

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยา

ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science Program in Microbiology

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต (จุลชีววิทยา)

ชื่อย่อ (ไทย) : วท.บ. (จุลชีววิทยา)

ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Bachelor of Science (Microbiology)

ชื่อย่อ (อังกฤษ) : B.Sc. (Microbiology)

 

ภาพรวม

หลักสูตรจุลชีววิทยาเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ และมีความชำนาญในทักษะปฎิบัติทางจุลชีววิทยา เนื้อหาของการเรียนครอบคลุมการศึกษาพื้นฐานเกี่ยวกับจุลินทรีย์และการประยุกต์จุลินทรีย์ในด้านต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทางด้านการแพทย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านจุลชีววิทยาที่ทันสมัยให้กับผู้เรียน  ดังนี้ โครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์จุลินทรีย์กลุ่มต่างๆ (แบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ สาหร่าย ปรสิต รวมทั้งไวรัส)  การเจริญและการสืบพันธุ์ เมแทบอลิซึม วิธีการควบคุมจุลินทรีย์ การจัดหมวดหมู่ และพันธุศาสตร์จุลินทรีย์ ความสำคัญของจุลินทรีย์ในด้านการเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม เครื่องสำอาง สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และสาธารณสุข  นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านจุลชีววิทยาหลักการ เทคนิค และหลักปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางจุลชีววิทยา การเตรียมอุปกรณ์และตัวอย่างสำหรับปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ เทคนิคปลอดเชื้อ การคัดแยกเชื้อบริสุทธิ์ การเพาะเลี้ยง และการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทางการแพทย์ ส่งผลให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีฐานความรู้สู่การประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานวิจัยระดับพื้นฐานและระดับสูงเพื่อการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

การเรียนการสอน

          นิสิตชั้นปีที่ 1 จะได้เรียนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเช่นเดียวกับหลักสูตรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แก่ กลุ่มวิชาพื้นฐานทางภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กลุ่มวิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารยุคดิจิทัล และกลุ่มวิชาทักษะชีวิต หมวดวิชาเฉพาะในกลุ่มพื้นฐานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะได้เรียนวิชาพื้นฐานของหลักสูตร ได้แก่ จุลชีววิทยาทั่วไป และจุลชีววิทยาทางการแพทย์เบื้องต้น

นิสิตชั้นปีที่ 2 จะยังคงได้เรียนวิชาศึกษาทั่วไป วิชาภาษาอังกฤษในระดับที่สูงขึ้น วิชาพื้นฐานเฉพาะด้านที่เน้นความรู้ทางชีวเคมีและสถิติพื้นฐานทางการแพทย์ และกลุ่มวิชาเอกบังคับ ได้แก่ แบคทีเรียวิทยา ราวิทยา ปรสิตวิทยา วิชาทักษะวิชาการทางจุลชีววิทยา เทคนิคและการใช้เครื่องมือทางจุลชีววิทยา ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในกระบวนการทางชีวโมเลกุลในวิชาพันธุศาสตร์จุลินทรีย์ และวิชาสรีรวิทยาและนิเวศวิทยาจุลินทรีย์ที่เรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญของจุลินทรีย์ เมแทบอลิซึม เอนไซม์จากจุลินทรีย์ การควบคุมจุลินทรีย์ พื้นฐานทางนิเวศวิทยา และความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ในระบบนิเวศ

นิสิตชั้นปีที่ 3 นิสิตจะได้เรียนรายวิชาวิชาเอกบังคับ ได้แก่ วิชาไวรัสวิทยา  วิชาระเบียบวิธีวิจัยที่ส่งเสริมให้นิสิตมีทักษะในเรื่องหลักการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การวางแผนการทดลอง ทักษะการสื่อสารและทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเขียนรายงานการวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัย วิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน วิชาจุลชีววิทยาอาหารเพื่อการตรวจสอบจุลินทรีย์ในอาหาร การควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร มาตรฐานทางจุลชีววิทยาในการผลิตอาหาร และการประกันคุณภาพอาหารในระบบมาตรฐาน วิชาจุลชีววอุตสาหกรรมเพื่อการปรับปรุงสายพันธุ์ของจุลินทรีย์เพื่อใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม

นอกจากวิชาเอกเลือกแล้ว นิสิตจะได้เรียนนิสิตได้เรียนรายวิชาที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ได้แก่ วิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล และวิชาบูรณาการความรู้สู่นวัตกรรมทางวิชาชีพ และนิสิตยังสามารถเลือกเรียนวิชาเอกเลือกและวิชาเลือกเสรีตามความสนใจของตนเองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการพานิสิตออกไปทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ ทั้งสถาบันวิจัยและสถานประกอบการต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในงานทางด้านจุลชีววิทยาให้กับนิสิต

นิสิตชั้นปีที่ 4 ในภาคการศึกษาต้น นิสิตจะเรียนวิชาชีวสารสนเทศเบื้องต้นเพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการสืบค้นข้อมูลทางจุลชีววิทยาและชีววิทยาโมเลกุลของจุลินทรีย์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต วิชาการจัดการและการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการและระบบประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการนำความรู้ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางจุลชีววิทยาที่ได้เรียนมาตลอด 3 ปี ประยุกต์ผ่านวิชาสัมมนา นอกจากนี้นิสิตยังคงได้เลือกเรียนวิชาเอกและวิชาเลือกเสรีตามความสนใจของตนเอง ในภาคการศึกษาปลาย นิสิตจะได้ออกปฏิบัติสหกิจศึกษา ฝึกงาน ยังเครือข่ายสถาบันและสถานประกอบการต่างๆ หรือเลือกทำการศึกษาอิสระในหัวข้อที่ตนเองสนใจโดยมีอาจารย์ให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด


 

อาชีพที่สามารถปฏิบัติได้หลังสำเร็จการศึกษา

1. นักจุลชีววิทยา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ และหน่วยงานเอกชน

2 ผู้ช่วยนักวิจัยของหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กรต่าง ๆ และโรงงาน

3 ผู้ปฏิบัติงานด้านควบคุมคุณภาพ ด้านประกันคุณภาพ ด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ยา เวชภัณฑ์ อาหาร และเครื่องสำอาง

4 ผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สารเคมี ยา เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง

5 ผู้ประกอบการที่ใช้ฐานความรู้ทางชีวเคมี เช่น การให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เจ้าของ ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม