Business blog post

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 596
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ UI Green ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และงานสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดการประกวดโครงการพัฒนากายภาพและสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์ UI green สู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบในการสร้างความยั่งยืน (Super KPI) ในวันที่ 12 กันยายน 2566 ซึ่งทางคณะฯ ได้ส่งโครงการเข้าร่วมประกวด จำนวน 3 โครงการ และได้คว้ารางวัลทั้ง 3 โครงการดังนี้
ระดับ Silver (ระดับดีมาก) จำนวน 2 รางวัล คือ
1. โครงการวิทย์แพทย์ร่วมใจใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า (Med Sci save water save life) โดยมี นางหนึ่งฤทัย เทพสิงห์ นายวิทยา สุนสะดี และนายณรงค์ ปัณสุวรรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท
2. โครงการวิทย์-แพทย์น่าอยู่ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความสุขของบุคลากร (Healthy Workplace Happy for MED-SCI) โดยมี นางสาวนิภาพร ตันเครือ นายนฤพงศ์ สันทราย และนางสาวรักษิณา ไผ่จิต เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท
รางวัลระดับ Bronze (ระดับดี) จำนวน 1 รางวัล คือ
1. โครงการ 3Rs (ลดการใช้, นำกลับมาใช้ซ้ำ, นำกลับมาใช้ใหม่) เพื่อลดขยะและภาวะโลกร้อน (3Rs (Reduce, Reuse, Recycle), to reduce waste and global warming) โดยมี นางสาวรัตนา ใจบุญ นางสาระชล เครือสาร นางฌัชกานต์ เสมอเชื้อ และนางสาวภัสฑิรา ธิวงษา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 595
วันที่ 22-23 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดโครงการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ โรงแรม Wintree City Resort จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กล่าวนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายในการบริหารงานคณะฯ จากนั้นคณะผู้บริหารกล่าวนำเสนอทิศทางการบริหารงานในแต่ละด้านสำหรับปีงบประมาณ 2567 เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้การวางขอบเขตของแผนปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์การดำเนินงานของคณะฯ ได้เน้นให้บุคลากรทั้งหมดภายในคณะฯ มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานภายในคณะฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนในคณะฯ ได้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน ทำให้เกิดการบริหารงานที่ทันสมัย มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 539
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดโครงการการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต ให้แก่นิสิต ณ อาคารเรียนรวมCE05206 โครงการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณธัญญ์พิชฌา สิงห์สถิต หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาและสร้างเสริมสุขภาวะ และคุณพัชรินทร์ ขุ่ยคำ นักจิตวิทยาคลินิก เป็นวิทยากรในการให้ความรู้ มีนิสิตเข้าร่วมโครงการมากกว่าสองร้อยคน
ผศ.ดร.ธีรภัทร ศรีรัตนโชติ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต และสื่อสารองค์กร ประธานเปิดโครงการ กล่าวว่า นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนซึ่งเป็นภารกิจหลักแล้ว ยังมีเรื่องของสังคมและความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป นิสิตจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เหล่านี้ให้ได้ โครงการอบรมสุขภาพจิตให้แก่นิสิต จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้นิสิตสามารถดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข ลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง และช่วยให้นิสิตสามารถปรับตัวและศึกษาเล่าเรียนได้อย่างราบรื่นจนสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการดำเนินโครงการที่ดูแลด้านสุขภาพจิตของนิสิต คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการสำรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้า การส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมความรู้และทักษะการให้คำปรึกษา และสร้างสื่อวิดีทัศน์และโปสเตอร์เผยแพร่ให้ความรู้แก่นิสิตและบุคลากร มีห้องให้คำปรึกษาเป็นสัดส่วนเฉพาะของคณะฯ มีการวางระบบการให้คำปรึกษาอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อจัดการในเรื่องการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของนิสิตภายในคณะฯ ตลอดจนมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับร่วมกับศูนย์ให้คำปรึกษา กองพัฒนาคุณภาพนิสิตและนิสิตพิการของมหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา และโรงพยาบาลพะเยา

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 624
วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ จำนวน 20 ท่าน เข้าศึกษาดูงานการดำเนินงานภายใต้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษาองค์กรต่อไป
การเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งทีมผู้บริหาร อาจารย์และเจ้าหน้าที่ ในการให้การต้อนรับและคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานในการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การประเมินคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx200) และพาเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและห้องส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับนิสิตรวมทั้งบุคลากรภายในคณะสาธารณสุขศาสตร์อีกด้วย
เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งการนำเกณฑ์ EdPEx มาใช้เพื่อบริหารนั้นจะช่วยให้องค์กรมีการดำเนินงานที่เป็นระบบ ส่งผลให้องค์กรเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 576
วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดโครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว ในหัวข้อ “อบรมฝึกซ้อมดับเพลิง อพยพหนีไฟ และการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” ณ อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวัตถุประสงค์การจัดโครงการในครั้งนี้เพื่อให้ บุคลากร นิสิต และผู้ปฏิบัติงานภายในอาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติในกรณีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การอพยพหนีไฟ สามารถป้องกันและระงับเหตุได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และปลอดภัย รวมถึงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วย
การจัดโครงการในครั้งนี้นำโดย ดร.สมศักดิ์ ธรรมวงษ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการ และได้รับเกียรติจากหน่วยฝึกอบรมเทศบาลตำบลแม่กา นำโดย จ่าเอกธนวัฒน์ อภิพัฒนวุฒิกลูน นักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชำนาญการ และทีมงาน เป็นวิทยากรในการให้ความรู้แก่บุคลากร นิสิต และผู้ปฏิบัติงานภายในอาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 80 คน
ภายในโครงการมีการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไฟ ประเภทของถังดับเพลิง วิธีการปฏิบัติในกรณีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ที่ถูกต้อง ทั้งนี้ได้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยใช้หุ่นจำลอง และได้ฝึกซ้อมการอพยพ และดับเพลิง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสัมผัสถึงการผจญเหตุจริง เมื่อเกิดหตุฉุกเฉินจะสามารถป้องกันและระงับเหตุได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง สามารถอพยพผู้คนได้อย่างปลอดภัย

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 839
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรม “จุดประกายความคิด พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ด้วยขยะรีไซเคิล” ภายใต้โครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 ณ ลานเอนกประสงค์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการ คัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และส่งเสริมให้บุคลากรมีจิตสำนึก ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการขยะ
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการ ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด ภัยพิบัติต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบนโยบาย 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle ให้บุคลากร นิสิต และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ตระหนักถึงการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ และได้เน้นย้ำให้บุคลากรและนิสิตร่วมกันคัดแยกขยะให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม ลดการเกิดสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ภายในงาน มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ "มลพิษจากขยะและการรีไซเคิล" โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิทวัส สัจจาพงศ์ เป็นวิทยากรในการบรรยาย โดยได้พูดถึงปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี และได้ยกตัวอย่าง ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนขยะพลาสติกในทะเล 22.8 ล้าน กิโลกรัม เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยที่ประเทศอินเดีย เป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเลมากถึง 126.5 ล้าน กิโลกรัม (อ้างอิงข้อมูลจาก www.euronews.com ในปี 2021) และได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการ Recycle และ Upcycle และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นต้นทางในการนำขยะไป Recycle ต่อไป
อีกทั้งยังมีกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ จากขยะรีไซเคิลที่เกิดขึ้นภายในสำนักงาน เช่น กล่องกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก ไส้กรองเครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น โดยมีบุคลากร นิสิต และแม่บ้าน ร่วมส่งสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้นจำนวน 13 ผลงาน สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ผลงานที่มีชื่อว่า 3Rs for Life สร้างสรรค์ผลงานโดย นายณรงค์ ปัญสุวรรณ ตำแหน่งคนงาน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประดิษฐ์กระถางดอกไม้จากขวดพลาสติก ซึ่งมีหลากหลายสี และได้สร้างสรรค์อย่างสวยงาม นำไปประดับตกแต่งบริเวณซุ้มสวนดอกไม้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทุกผลงานที่เข้าประกวดล้วนมากจากความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น โต๊ะกาแฟจากกล่องกระดาษ ถังขยะจากไส้กรองเครื่องฟอกอากาศเป็นต้น และในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดกิจกรรมต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจได้มาทดลองประดิษฐ์ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการดำเนินการตามหลัก 3Rs คือ Reduce Reuse และ Recycle เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 600
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดการต้อนรับการศึกษาดูงานจากผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจังหวัดลำปาง จำนวน 53 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างร่างกายของมนุษย์ ในการนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดให้มีการศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์ ณ ตึก Anatomy Hall ในหัวข้อ ระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง ระบบหายใจและไหลเวียนเลือด ระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร และระบบสืบพันธุ์และขับถ่ายปัสสาวะ โดยมีคณาจารย์สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความรู้และดูแลต้อนรับคณะศึกษาดูงานเป็นอย่างดี

- รายละเอียด
- หมวด: General_News
- wittaya By
- ฮิต: 515
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการจัดกิจกรรมเสียงสะท้อนจากบัณฑิตและศิษย์เก่า โดยมีผู้บริหารคณะฯ ประกอบด้วยรองคณบดี ประธานหลักสูตรฯ หัวหน้าสำนักงานคณะ และหัวหน้างาน ได้เข้ามารับฟังข้อคิดเห็นในการบริหารจัดการของคณะฯ จากบัณฑิตและศิษย์เก่า จำนวน 10 คน ที่ต้องการให้คณะฯ มีการปรับปรุงการดำเนินงานในคณะให้ดีขึ้น และมีข้อเสนอแนะให้คณะฯ ดำเนินการปรับปรุงดังต่อไปนี้
- วัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้นิสิตไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้ครบทุกคน ส่งผลต่อคุณภาพของนิสิตเวลาออกไปปฏิบัติงานจริง
- เพิ่มกิจกรรมเสริมหลักสูตร ที่ส่งเสริมให้นิสิตมีความกล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดเชิงวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาได้
- ควรมีการแนะนำสายงานที่นิสิตจบไปแล้วจะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
- ในการทำสหกิจศึกษาควรมีการเพิ่มแหล่งสหกิจให้หลากหลายและให้นิสิตได้มีโอกาศได้เลือกมากขึ้น
- การเรียนการสอนควรเน้นด้านปฏิบัติการมากขึ้น และให้นิสิตได้ทำปฏิบัติการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคต
- หลักสูตรโภชนาการการเรียนการสอนควรมีการเพิ่มปฏิบัติการบางอย่างที่นิสิตต้องนำไปใช้ในอนาคต เช่น การให้อาหารทางสายยาง เป็นต้น
- หลักสูตรชีวเคมี การเรียนการสอนควรมีการเพิ่มเทคนิคระดับโมโลกุลมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถนำไปต่อยอดในการปฏิบัติงานได้หลากหลาย
- หลักสูตรจุลชีววิทยา การเรียนการสอนควรมีการเพิ่มเทคนิคระดับโมโลกุลและการเพาะเลี้ยงเซลล์มากยิ่งขึ้น และการสอนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานต่างๆ ทางอุตสาหกรรม เช่น ISO9001 ISO17029 ISO14001 ควรเน้นที่การนำไปปฏิบัติงานจริงในอนาคต หรือเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ มาสอนเพิ่มเติม นิสิตจะได้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ทางผู้บริหารคณะขอขอบคุณบัณฑิตและศิษย์เก่าทุกท่านที่ให้ข้อเสนอแนะและจะนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนในการปรับปรุงการบริหารงานของคณะฯ ให้ดีขึ้น